สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์



                                                     

                                          พระประสูติกาล



สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระนามแรกประสูติตามที่โรงพยาบาลตั้งถวายคือ เมย์ สงขลา (อังกฤษ: May Songkla) ซึ่งเป็นเดือนที่พระองค์ประสูติ ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล (คำว่า "วัฒนา" ในพระนาม ทรงตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นการลำลองว่า บี๋

ขณะทรงพระเยาว์

หลังจากประสูติได้ไม่นาน สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงย้ายจากลอนดอนไปประทับที่เมืองเซาท์บอนซึ่งอยู่ทางตะวันออกของอังกฤษ จากนั้นเสด็จไปยังเมืองบอสคัม อยู่ติดชายฝั่งด้านทิศใต้ของอังกฤษ ต่อมาเมื่อพระชันษาได้ 6 เดือน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี กลับประเทศไทย
วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชนนีไปประทับที่ประเทศเยอรมนี ช่วงเวลานั้นเองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ประสูติ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก
สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2469 เพื่อร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และประทับอยู่ร่วมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงเวลานั้น ดร.ฟรานซิส บี แซร์ ชาวอเมริกันผู้เป็นอดีตที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เล่าถวายสมเด็จพระบรมราชชนก ว่าที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีสถานที่รับเลี้ยงเด็กชื่อ ชองโซเลย (Champ Soleil) มีเจ้าของเป็นแพทย์ ดูแลเด็กอย่างถูกหลักอนามัย สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงนำพระธิดาและพระโอรสไปฝากให้อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ทรงเริ่มรับสั่งภาษาฝรั่งเศสได้



                                                        การศึกษา



                               ปลายปี พ.ศ. 2469 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จพร้อมด้วยครอบครัวมหิดลไปยังนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงศึกษาด้านจิตวิทยา การทำอาหารและโภชนาการที่วิทยาลัยซิมมอนส์ ด้านสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ก (Park School) หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์แล้ว พ.ศ. 2471 ทรงนำครอบครัวกลับประเทศไทย และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ทรงเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี


ภายหลังสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2472 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน รัฐโว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้าศึกษาที่ชองโซเลยอีกครั้งเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงทรงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) จนจบระดับประถมศึกษา หลังจากนั้นสมเด็จพระราชชนนีได้ย้ายไปประทับที่เมืองปุยยีซึ่งอยู่ติดกับโลซาน โดยพระราชทานนามสถานที่ประทับว่า “วิลล่าวัฒนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีชื่อ École Supérieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ณ ที่นั้น พระองค์ได้ทรงศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาละตินด้วย ต่อมาทรงย้ายมาเรียนที่ International School of Geneva ณ กรุงเจนีวา ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับมัธยมศึกษาเป็นที่ 1 ของโรงเรียน และที่ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
หลังจากนั้น พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาเคมีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ในระหว่างนั้น พระองค์ก็ทรงศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ Diplôme de Sciences Sociales Pédagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญาและจิตวิทยาด้วย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์สาขาเคมีซึ่งพระองค์ทรงได้รับ Diplôme de Chimiste A พระองค์ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย
                       สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

                              


เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดลขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชโสทรเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงประกาศเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478


ทรงอภิเษกสมรส



ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ เพื่อสมรสกับพันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2487 พระองค์มีพระธิดา คือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (สมรสกับนายสินธู ศรสงคราม มีบุตรชาย คือ ร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงว่า พระพี่นางกัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทและทรงมีอุปการคุณแด่พระองค์ ดังนั้น จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่ง ให้สถาปนาพระเจ้าพี่นางกัลยาณิวัฒนา กลับทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตามเดิมทุกประการ
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2512 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเสกสมรสอีกครั้งกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยและหม่อมระวี ไกยานนท์) 

ทรงกรม

ในวโรกาสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 2 พระองค์ ด้วยทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์มาโดยลำดับ รวมทั้งทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงชนชาวไทยทั่วไป จึงมีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ซึ่งนับเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์แรกในรัชกาล โดยมีการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง
พระนามกรม "กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" นั้น เป็นพระนามตามนามเมืองในภาคใต้ สืบเนื่องมาจากการที่พระราชโอรสและพระราชธิดาที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ล้วนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ทรงกรมตามนามเมืองทางภาคใต้ทั้งสิ้น

สิ้นพระชนม์


เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี (ท้อง) และได้เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์ได้ถวายการตรวจพระวรกายและเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจพบมะเร็งซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่พระถันที่ทรงเคยได้รับการถวายตรวจรักษาเมื่อ 10 ปีก่อน โดยช่วงเวลาหลังการถวายรักษาครั้งก่อนนั้น ทรงมีสุขภาพดี และในการถวายตรวจติดตามพระสุขภาพจึงได้ตรวจพบมะเร็งเกิดขึ้นใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน นอกจากนี้ คณะแพทย์ได้ถวายตรวจพระสมองด้วยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ พบว่า มีเนื้อสมองด้านซ้ายตายเป็นวงกว้าง จากเส้นเลือดสมองอุดตัน คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาพระอาการอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ    สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงพระประชวร ต่อเนื่องเรื่อยมา จากแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคมพ.ศ. 2550 ถึงฉบับที่ 38 เป็นฉบับสุดท้าย เมื่อวันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่2 มกราคม พ.ศ. 2551 พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 02.54 น. รวมพระชนมายุ 84 พรรษา


หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี มีพระราชพิธีถวายสรงน้ำพระศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงสู่หีบ ประดิษฐานหลังพระแท่นแว่นฟ้าทอง ประกอบพระโกศทองใหญ่ ภายใต้เบญจปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 5 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง
ต่อมาในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน 7 วันถวายพระศพนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยให้เจ้าพนักงานจัดสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) กางกั้นพระโกศพระราชทาน
รัฐบาลไทยได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 15 วัน และให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการถวายความอาลัยในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ สำหรับการพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รัฐบาลกำหนดวันพระราชพิธีระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551